ประวัติทางอุตุนิยมวิทยา ของ พายุโซนร้อนปาบึก (พ.ศ. 2562)

แผนที่แสดงเส้นทางและความรุนแรงของพายุตามมาตราแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน

การแปรปรวนของอากาศในเขตร้อนก่อตัวขึ้นทางตอนใต้ของทะเลจีนใต้ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561[1] โดยรวมเข้ากับหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือของพายุดีเปรสชันเขตร้อน 35W ในวันที่ 30 ธันวาคม[2] ภายใต้ลมเฉือนแนวตั้งกำลังแรง ทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงไม่มีการจัดระเบียบจนวันที่ 31 ธันวาคม เมื่อทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน[3] ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่องพายุดีเปรสชันฉบับที่ 1 ในเวลา 16.00 น.[4] โดยศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ให้รหัสเรียกกับพายุว่า 36W เป็นพายุลูกสุดท้ายอย่างไม่เป็นทางการของฤดูพายุไต้ฝุ่น พ.ศ. 2561[5] ต่อมาในเวลา 06.00 น. UTC (เวลา 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้พายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกของฤดูพายุไต้ฝุ่น พ.ศ. 2562 และให้ชื่อว่า ปาบึก (Pabuk) โดยเป็นพายุที่เหนือกว่าพายุไต้ฝุ่นอลิซใน พ.ศ. 2522 และเป็นพายุโซนร้อนที่ก่อตัวเร็วที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือในสถิติ[6] โดย ณ เวลานั้น ปาบึกอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 650 กม. และเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันตกอย่างช้า ๆ พร้อมการไหลเวียนระดับต่ำที่ศูนย์กลางที่เปิดออกเป็นบางส่วน[7]

ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ร่อแร่ คือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อบอุ่น, มีการไหลออกที่ขั้วอย่างดีเยี่ยม แต่มีลมเฉือนแนวตั้งที่พัดแรง ทำให้ปาบึกพยายามเร่งการทวีกำลังแรงมากขึ้นเป็นเวลาสองวัน ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเร่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือและเข้าสู่อ่าวไทยในวันที่ 3 มกราคม ซึ่งในอ่าวไทยเป็นบริเวณที่ลมเฉือนแนวตั้งพัดเบาลงและอ่อนลง ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดอยู่ในอ่าวนับตั้งแต่พายุหมุ่ยฟ้าในฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2547 โดยที่เวลาขณะนั้น พายุปาบึกพยายามที่จะสร้างตาพายุขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้ผ่านทางภาพถ่ายคลื่นไมโครเวฟ[8] วันที่ 4 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าปาบึกพัดขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเวลา 12.45 น. (05.45 UTC) แม้ว่าสำนักอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ จะชี้ว่าปาบึกจะพัดขึ้นฝั่งขณะมีกำลังสูงสุดในระหว่างเวลา 06.00 ถึง 12.00 UTC (13.00 ถึง 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[9] ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดขึ้นฝั่งในภาคใต้ของประเทศไทย นับตั้งแต่พายุลินดาเมื่อ พ.ศ. 2540 ไม่นานหลังจาก 12.00 UTC (19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ออกคำแนะนำฉบับเต็มสำหรับปาบึกเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากพายุได้เคลื่อนตัวออกจากแอ่งและเข้าสู่แอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือแล้ว[10][11]

ไม่นานหลังจากที่ปาบึกพัดข้ามแอ่งไปแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียได้ออกคำแนะนำฉบับแรกกับพายุ ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุไซโคลนลูกแรกของแอ่งที่ก่อตัวเร็วที่สุดเช่นกัน โดยเร็วกว่าพายุไซโคลนฮีบารูในปี พ.ศ. 2548 รวมถึงยังเป็นพายุไซโคลนลูกแรกของแอ่งที่มีชื่อที่ได้รับจาก RSMC โตเกียวด้วย[12] ต่อมาอีกไม่กี่วัน ปาบึกยังคงเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในวันที่ 7 มกราคม โดยหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือได้เลี่ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และสลายตัวลงในวันที่ 8 มกราคม ตามลำดับ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุโซนร้อนปาบึก (พ.ศ. 2562) http://bbs.typhoon.org.cn/read.php?tid=78666&fid=5... http://tgftp.nws.noaa.gov/data/raw/wd/wdpn31.pgtw.... http://tgftp.nws.noaa.gov/data/raw/wt/wtpn31.pgtw.... http://tgftp.nws.noaa.gov/data/raw/wt/wtpq20.rjtd.... http://www.rsmcnewdelhi.imd.gov.in/images/bulletin... http://www.metoc.navy.mil/jtwc/products/wp3618prog... http://www.orientaldaily.com.my/s/273980 http://kinhtedothi.vn/hau-qua-do-bao-so-1-con-2-ng... https://www.apnews.com/b1815f21df7a478b9e1706ad231... https://www.bloomberg.com/amp/news/articles/2019-0...